วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติของน้ำมันมะพร้าว


พอล ซอร์ซี่
บิดาแห่งน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์บีบเย็น
ดร.บรูซ ไฟฟ์ นักโภชนศึกษาผู้แต่งหนังสือ Coconut Cures เขียนคำอุทิศไว้ในหนังสือของเขาว่า
" ขอมอบหนังสือเล่มนี้เป็นอนุสรณ์แด่ พอล ซอร์ซี่ และวิสัยทัศน์ของเขา ในการเผยแพร่สรรพคุณการรักษาของน้ำมันมะพร้าวไปทั่วโลก "
พอร์โฟริโอ (พอล) ซอร์ซี่ เกิดที่ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1895 เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้องห้าคน พ่อของพอลเป็นนักเทศน์ในคริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนต์ เมื่อลูกบ้านป่วย พ่อของพอลจะรักษาพวกเขาด้วยน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นยาพื้นบ้านที่ใช้กันมาจนเป็นประเพณีอยู่ในฟิลิปปินส์ขณะนั้น เขาทำน้ำมันมะพร้าวด้วยตนเองโดยอาศัยวิธีการที่สืบทอดกันมาจากพ่อของพ่อของพ่อ พอลได้เรียนรู้วิธีทำน้ำมันมะพร้าวสดบริสุทธิ์จากที่นั่น 
ชีวิตวัยเด็กของพอลทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ราชนาวีสหรัฐเริ่มเกณฑ์ชาวฟิลิปปินส์เข้ารับราชการทหาร (ขณะนั้นฟิลิปปินส์เป็นดินแดนภายใต้อาณัติของอเมริกา) พอลหนุ่มจึงสมัครเข้าเป็นพ่อครัว เขารับใช้กองทัพเรืออยู่สามปี ภายหลังสงครามโลกยุติ พอลลาออกจากทหารมาทำงานเป็นพ่อครัวอยู่ในเรือพาณิชย์จนกระทั่งปี 1925 หลังจากนั้นพอลย้ายไปนิวยอร์ค อาศัยในหมู่บ้านกรีนวิชกับเพื่อนๆชาวฟิลิปปินส์ของเขา ฝีมือพ่อครัวของเขาได้รับการฝึกฝนให้ดียิ่งขึ้นเมื่อเขาได้เข้าทำงานในโรงแรมหรูอย่าง วอลดอร์ฟแอสโตเรีย พอลยังเคยทำงานให้กับตระกูลมั่งคั่งหลายตระกูล โดยเป็นทั้งพ่อครัว คนขับรถ และพ่อบ้าน พอลจะปรุงหารรสอร่อย คอยดูแลลูกเจ้านาย รวมทั้งดูแลสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ 
ครั้งหนึ่งเขาทำงานให้ตระกูลไครสเลอร์ โอกาสหนึ่งพอลเล่าว่า เจ้านายบอกพอใจในผลงานของเขาและเขาสมควรได้รับรางวัล จากนั้นไม่นาน เจ้านายของพอลตายด้วยเหตุเครื่องบินส่วนตัวตก เขาทิ้งเงินไว้ให้พอลก้อนหนึ่งที่พอลอธิบายว่าเป็น"เงินก้อนใหญ่" ส่วนจะใหญ่แค่ไหนนั้นผมไม่เคยรู้ แต่สงสัยว่าไม่น่าจะใช่แค่สองพันสามพันเหรียญ จากการที่รู้อยู่แล้วว่าพอลดำเนินชีวิตอย่างมัธยัสถ์เพียงไร เงินจำนวนนี้น่าจะทำให้พอลเป็นหลักเป็นฐาน แต่พอลกลับมอบมันแก่เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของเขา เพื่อนำไปใช้เป็นทุนเข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียโดยไม่หวังจะได้คืน เขาบอกกับเพื่อนของเขาว่า เมื่อเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงแล้วให้นำเงินไปช่วยเหลือพี่น้องชาวฟิลิปปินส์ต่อไป นี่แหละพอล คอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ 
พอลเริ่มทำน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บป่วย เหมือนกับที่พ่อของเขาเคยทำ อย่างไรก็ดี น้ำมันมะพร้าวของพ่อของเขาทำด้วยวิธีโบราณ มีส่วนผสมของน้ำปนอยู่มาก เก็บไว้ได้แค่สองสามสัปดาห์ก็เหม็นหืน พอลจึงปรับปรุงสูตรดั้งเดิมของพ่อเขาเสียใหม่โดยสกัดน้ำออกทั้งหมด ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานไม่จำกัด ใช้แล้วลื่นกว่า และแทรกซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายกว่ามาก 
พอลเกษียณในปี 1952 เมื่อมีอายุครบ 57 เขาตัดสินใจทำน้ำมันมะพร้าวของเขาออกขายแบบเต็มเวลา "เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์, ตอบสนองความต้องการของมนุษย์" พอลกล่าว "มันทำให้คุณมีความสุข, สุขภาพแข็งแรง, และงดงาม, มันแทรกซึมผ่านรูขุมขน, เข้าสู่ศูนย์กลางประสาท ช่วยให้อายุยืนยาว สุขภาพดี" ช่วงชีวิต 45 ปีที่เหลือต่อมาของพอลอุทิศให้กับ การเผยแพร่วิธีส่ร้างเสริมสุขภาพด้วยน้ำมันมะพร้าวของเขา
ชื่อเสียงของพอลและน้ำมันมะพร้าวเป็นที่รู้จักกันดีทั่วทั้งเมือง หนังสือพิมพ์หลายฉบับตีพิมพ์เรื่องของพอลและน้ำมัน'โคเพียว' (น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์) ของเขา บริษัทผลิตเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่สองสามบริษัทเสนอซื้อสูตรลับการทำน้ำมันมะพร้าว แต่พอลปฏิเสธไปทั้งหมด การได้ลงมือทำพร้อมกับควบคุมคุณภาพด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญกว่าการได้มาซึ่งเงินทอง
ผู้คนทั่วทั้งนิวพอร์ทต่างมาหาเขาเพื่อซื้อน้ำมันมะพร้าวหรือมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ การรักษาของพอลจะใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นหลักเสมอ มันเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียวที่เขาขาย ลูกค้าของพอลมาจากทุกสาขาอาชีพ นอร์ม่า เทเลอร์ โปรเทนนิสเป็นลูกค้าประจำเช่นเดียวกับ ดิ๊ค เกรกอรี่ นักเขียนเรื่องขำขันและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง, แคธลีน คอตตา ผู้ทำไร่สมุนไพรอยู่ที่พอร์ทสมัทธ์ จะแวะมาซื้อน้ำมันมะพร้าวคราวละสองขวด ขวดหนึ่งไว้ใช้ภายนอก อีกขวดไว้รับประทาน "เชื่อหรือไม่" เธอพูด "ฉันเหยาะมันในน้ำชาหรือกาแฟ มันเหมือนวิตะมินเลย"
ที่ร้านของพอลมักเตรียมอาหารหม้อใหญ่เผื่อไว้หนึ่งอย่างสำหรับคนที่กำลังหิว เขาจะเสิร์ฟมันแก่ลูกค้าประจำ เพื่อนสนิท หรือกับใครๆที่แวะเข้ามา ทุกๆวันจะมีชายตาบอดคนหนึ่งเดินเคาะไม้เท้ามาตามถนนเทมส์จนถึงร้านของเขา พอลจะจัดอาหารเลี้ยงดูชายตาบอดอย่างดีราวกับพระราชา เขาทำเช่นนี้ทุกวันเป็นปีๆและคิดค่าอาหารเพียงหนึ่งหรือสองดอลลาร์ ที่พอลต้องคิดเงินก็เพื่อไม่ให้ชายตาบอดรู้สึกเคอะเขิน เขายังทำเช่นนี้กับคนติดเหล้าคนหนึ่งที่โผล่มาเป็นครั้งคราว พอล เป็นชายร่างเล็กที่สูง 5 ฟุต 1 นิ้วและหนักเพียง 120 ปอนด์ แต่หัวใจของเขายิ่งใหญ่นัก
ธุรกิจของพอลคือน้ำมันมะพร้าวที่เขารักอย่างจริงจัง บทสนทนาของพอลถ้าไม่เริ่มต้นก็ต้องจบลงด้วยเรื่องน้ำมันมะพร้าว พอลมักพูดว่า "มะพร้าวเป็นราชาของอาหาร มะม่วงเป็นราชินี" พอลเคยยกขวดน้ำมันมะพร้าวขึ้นพร้อมพูดว่า "ความลับของการมีสุขภาพดีอยู่ในขวดนี้ คนเป็นล้านทั่วโลกต้องตายไปเพราะเจ็บไข้หรือหิวโหย รู้แล้วก็ได้แต่เศร้าใจเพราะตัวผมมีคำตอบอยู่ในมือ"
พอลไม่เคยมีกลิ่นตัวหรือกลิ่นปาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะตลอดเวลาที่รู้จักกันมา 25 ปี พอลไม่เคยอาบน้ำฟอกสบู่เลย เขาใช้การนวดตัวด้วยน้ำมันมะพร้าวทุกวันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าแทน เขาจะดื่มมันเล็กน้อย ถ้าวันไหนรู้สึกไม่ดีก็จะดื่มมากหน่อย ด้วยสุขภาพและสภาวะทางร่างกายที่ดีเยี่ยม บวกกับใบหน้าที่ไม่มีริ้วรอยแม้จะอยู่ในวัย 70-80 ปีของพอลเป็นตัววัดได้อย่างดีว่าน้ำมันมะพร้าวของเขาให้ผลเช่นไร
พอล ซอร์ซี่
ปี 1995 พอล ซอร์ซี่ฉลองวันเกิดอายุครบ 100 ปี ได้รับเกียรติจากเทศบาลเมืองรีโฮบอทช์ แมสซาชูเซ็ท ยกย่องให้เป็นพลเมืองอาวุโสที่สุด พอลยังคงมีสติแจ่มใสและกระฉับกระเฉง เขาทำสลัดมันฝรั่งและไข่เดฟเวิลด์เลี้ยงแขกที่มาร่วมฉลองในงาน
พอล ซอร์ซี่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1998 ด้วยวัยอันน่าทึ่ง 102 ปี คนที่รู้จักต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาดูอ่อนวัยและกระฉับกระเฉงกว่าอายุ ยังคงง่วนกับการบดมะพร้าวเพื่อทำน้ำมันอย่างทะมัดทะแมงไปจนบั้นปลายชีวิต เป็นข้อยืนยันได้อย่างดีว่าน้ำมันมะพร้าวของเขาใช้ได้ผลเพียงไร พอลนับว่าเป็นผู้ค้นพบยาอายุวัฒนะที่แท้จริง


ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว





1. น้ำมันมะพร้าวเป็นโทษกับร่างกายหรือไม่ ?

วงการแพทย์และนักโภชนาการสมัยใหม่ค้นพบแล้วว่า น้ำมันมะพร้าวไม่เป็นโทษกับร่างกายเลย อันที่จริงสิ่งที่ให้โทษกับร่างกายคือน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีหรือน้ำมันพืชที่เราใช้ปรุงอาหารอยู่ในปัจจุบัน ดังที่เป็นข่าวในอเมริกาว่า ผู้ดำเนินกิจการอาหารฟาสท์ฟู้ดถูกฟ้องฐานทำให้ผู้บริโภคเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะใช้น้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีที่มีกรดไขมันทรานส์มาปรุงอาหาร

ในทางกลับกันน้ำมันมะพร้าวกลับช่วยป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง ไม่ทำให้อ้วนเพราะเผาผลาญได้เร็วจึงไม่สะสม และไม่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น และความที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวจึงช่วยควบคุมการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันในร่างกาย ช่วยลดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณดี ไม่เหี่ยวย่นแก่ก่อนวัย

น้ำมันมะพร้าวไม่เป็นโทษแม้แต่กับเด็กเล็ก เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยกรดลอริค ซึ่งเป็นกรดไขมันที่พบได้มากในน้ำนมแม่นั่นเอง วิธีรับประทานน้ำมันมะพร้าวที่ดีที่สุดคือใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันพืชชนิดอื่นๆในการปรุงอาหาร หรือจะรับประทานเป็นอาหารเสริมก็ได้ ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 3-4 ช้อนชา เด็กวันละ 1-2 ช้อนชา โดยเฉลี่ยแบ่งรับประทานทีละน้อยจนครบจำนวนในแต่ละวัน หรือจะผสมในเครื่องดื่มร้อนๆเช่นโกโก้ร้อนหรือน้ำผลไม้อุ่นๆก็ได้ น้ำมะเขือเทศอุ่นผสมน้ำมันมะพร้าวมีรสชาติอร่อยมาก.


2. คุณภาพของน้ำมันมะพร้าวที่ดี ดูได้จากอะไรบ้าง ?

คุณภาพของน้ำมันมะพร้าว เบื้องต้นดูได้จากมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โรงงานที่ผลิต และน้ำมันมะพร้าว ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความใสไม่มีสี ปราศจากสารปนเปื้อน มีกลิ่นหอม ได้รับการรับรองและเลขสารบบ อย. บนฉลากขวด
แต่ก็สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยตนเองง่ายๆ ดังนี้

2.1. ความใส น้ำมันที่สะอาดจะมีความใส ลักษณะโปร่งแสง แต่อาจเปรียบเทียบคุณภาพความใสที่แตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในขวดลักษณะเดียวกัน สีของพลาสติกหรือแก้ว อาจทำให้มีอิทธิพลกับสีได้บ้าง

2.2. กลิ่น ความหอมของน้ำมันมะพร้าว ต้องหอมอ่อนให้ความรู้สึกว่าเป็นน้ำมันสดใหม่ ไม่มีกลิ่นหืน หรือเปรี้ยว ถึงแม้ว่าจะเปิดใช้แล้วกลิ่นต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังมีผู้ผลิตบางรายดัดแปลงกลิ่น โดยใช้น้ำหอมสังเคราะห์กลิ่นมะพร้าว หรือ กลิ่นมะพร้าวน้ำหอมเข้าไป วิธีนี้จะทำให้มีกลิ่นหอมมากในตอนเปิดขวดหรือเปิดใช้ หลังจากนั้นความหอมจะจางลง และเปลี่ยนเป็นเหม็นเปรี้ยว และทำให้อายุของน้ำมันมะพร้าวอยู่ได้ไม่นาน

2.3. ความเบา น้ำมันมะพร้าวคุณภาพดี จะมีความเบา มีความหนืดน้อยมาก เวลารับประทานจะผ่านลำคอได้ง่ายและเร็ว มีความรู้สึกเหมือนละลายในปาก ในขณะที่กลืนลงคอไม่มีกลิ่นรุนแรง ไม่เลี่ยน

2.4. ความซึมเข้าสู่ผิว น้ำมันมะพร้าวคุณภาพดี จะมีโมเลกุลเล็ก ทำให้ซึมเข้าสู่ผิวได้เร็ว ไม่ทิ้งคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิว



3. ใช้น้ำมันมะพร้าวทำอาหารแล้วมีกลิ่น / เทคนิคการรับประทานน้ำมันมะพร้าว

กลิ่นของน้ำมันมะพร้าวมีเหตุผล 2 ลักษณะ คือ
1. ความเคยชินของการใช้น้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีที่ใช้สารเคมีฟอกสี ฟอกกลิ่นออกจนหมดจึงไม่ได้กลิ่นเวลาทำอาหาร

2. น้ำมันพืชบริสุทธิ์ทุกชนิดจะมีกลิ่นเฉพาะตัว เนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมีใดเข้าไปดัดแปลง น้ำมันมะพร้าวก็เช่นกัน จะมีกลิ่นเฉพาะของน้ำมันมะพร้าว หากผู้บริโภคไม่เคยชิน อาจใส่ใบเตยหรือหอมซอยลงไปในน้ำมันก่อนทอด จะทำให้กลิ่นของน้ำมันมะพร้าวลดลงได้มาก

เทคนิคการับประทานน้ำมันมะพร้าวในรูปแบบต่าง ๆ

1. ใส่ผสมในน้ำผลไม้ (สูตรของ ดร.ณรงค์โฉมเฉลา ใส่ลงในน้ำส้มคั้นรับประทานทุกวัน)
2. ใส่ในแกงจืด อาหารแกงต่างๆ
3. ใช้เป็นน้ำสลัด
4. ราดบนน้ำแข็งใส ไอศกรีม (สูตรนี้เด็กชอบรับประทาน)
5. ใช้ทอดอาหาร อาหารจะไม่ชุ่มน้ำมัน และมีความกรอบได้นาน
6. ใส่ลงไปพร้อมการหุงข้าว จะทำให้ได้ข้าวนุ่ม หอม อร่อย (สูตรพิเศษใส่กระเทียมเล็ก 5-6 กลีบ และใบเตยโรยเกลือนิดหน่อยจะยิ่งทำให้อร่อยมากขึ้น)


4. เวลาน้ำมันมะพร้าวเป็นไข


น้ำมันและไขมันมีความแตกต่างกันอย่างไร น้ำมัน และไขมันมักจะถูกใช้แทนที่กันเสมอ น้ำมันมีสถานะเป็นของเหลว ส่วนไขมันมีสถานะเป็นของแข็ง น้ำมันทุกชนิด สามารถกลายเป็นไขได้ แต่ด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างกัน น้ำมันมะพร้าวเป็นไข (แข็งตัว มีลักษณะเป็นครีมขาว) ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25๐c เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นน้ำมันอิ่มตัวสูง จึงเปลี่ยนเป็นไขเร็วกว่าน้ำมันชนิดอื่น ทำให้น้ำมันมะพร้าวมีสภาพเป็นครีมขาว ณ ที่จุดวางขาย หากมีอุณหภูมิเย็น (และจะเปลี่ยนกลับเป็นน้ำมันใสดังเดิมที่อุณหภูมิสูงกว่า 25?c)

ไขของน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่น้ำมันเสีย แต่กลับเป็นสัญลักษณ์ของน้ำมันชนิดดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อคุณซื้อมาจากชั้นวางขาย หรือวางไว้ในห้องแอร์ น้ำมันมะพร้าวอาจเป็นไขได้ คุณเพียงแต่ละลายไขนั้นด้วยการนำออกไปวางในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ หรือวางไว้ในบริเวณที่ใกล้แสงแดด (ไม่ควรตากแดด เพราะหากลืมทิ้งไว้เป็นเวลานาน ความร้อนที่สะสมอาจมีผลกับภาชนะบรรจุ)

ถึงแม้น้ำมันมะพร้าวจะเป็นผลิตผลของพืชเมืองร้อน แต่กลับเป็นที่นิยมของคนที่อยู่ในเขตหนาว การเป็นไขของน้ำมันมะพร้าวจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ภาชนะที่ใช้ให้เหมาะสมจึงใช้เป็นกระปุกปากกว้าง เพื่อใช้ตักแทนการเทริน และขณะนี้การสั่งน้ำมันมะพร้าวออกไปขายยังประเทศเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ


5. SHELF LIFE ของน้ำมันมะพร้าว 

น้ำมันมะพร้าวที่ดีจะมี SHELF LIFE (อายุของผลิตภัณฑ์) นานมาก MCFAS (กรดไขมันสายปานกลาง) จะมีคุณสมบัติเป็นสาร ANTIOXIDANTS ทำให้ป้องกันการเสียได้นาน จากผลทดลองในห้อง LAB ของฟิลิปปินส์ น้ำมันมะพร้าวที่บรรจุในกระปุกและเปิดฝาทิ้งไว้ มี SHELF LIFE นานกว่า 5 ปี

แต่ถ้าน้ำมันมะพร้าวมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือ หืนแล้ว ไม่ควรรับประทาน เพราะกลิ่นที่เปลี่ยนไปนี้เกิดจากมีความชื้นเข้าไปรวมตัวกับน้ำมันมะพร้าว เกิดเป็นสารอนุมูลอิสระ

เพราะฉะนั้นศัตรูที่สำคัญที่สุดของน้ำมันมะพร้าว คือความชื้น ขั้นตอนการ DRY OIL คือการกำจัดความชื้นออกจากน้ำมันมะพร้าว เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อต้องการน้ำมันมะพร้าวที่ดี การดมกลิ่นจึงสามารถใช้เป็นมาตรฐานการเลือกซื้อเบื้องต้นได้ และหลังจากเปิดใช้แล้วควรเก็บให้ห่างจากการเปียกน้ำ และความชื้น จะทำให้มีอายุการใช้งานได้นาน


6. ทำไมรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้วท้องระบาย และทำไมรับประทานน้ำมันแต่ละยี่ห้อท้องระบายไม่เท่ากัน

ในลำไส้ใหญ่ของเราจะอุดมไปด้วย PROBIOTIC แบคทีเรียชนิดดีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่ควบคุมเชื้อยีสต์ และเชื้อรา (ซึ่งเป็นสาเหตุของลำไส้ใหญ่อักเสบ เชื้อราในช่องคลอด) เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ซึ่งมีมากใน ผัก ผลไม้ PROBIOTIC จะใช้เอนไซม์ช่วยย่อย สิ่งที่ได้หลังการย่อย จะได้เป็นกรดไขมันสายสั้น (SCFAs) และกรดไขมันสายปานกลาง (MCFAs) ในสภาวะที่อุดมไปด้วยกรดไขมันนี้เป็นสภาวะที่เอื้อให้ PROBIOTIC เพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การย่อยในลำไส้ใหญ่มีประสิทธิภาพสูง จึงขับถ่ายเร็วขึ้น และขับของเสียออกมาอย่างสะดวกสบายท้อง

น้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยกรดไขมันสายปานกลาง (MCFAs) จึงมีผลต่อ PROBIOTIC ทันทีที่น้ำมันเดินทางไปถึงลำไส้ใหญ่ ดังนั้นหลังจากรับประทานน้ำมันมะพร้าวไปได้ไม่นาน จะรู้สึกเป็นการกระตุ้นลำไส้ให้ขับถ่าย บวกกับคุณสมบัติความลื่นของไขมันจึงช่วยส่งเสริมให้การขับถ่าย ไหลลื่น สะดวดรวดเร็ว

การขับถ่ายที่สะดวกนี้ไม่เหมือนการขับถ่ายที่เกิดจากการรับประทานอาหารผิดสำแดง ไม่มีโทษใดๆ กับร่างกายไม่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากเสียเกลือแร่ ไม่มีผลอันตรายใดๆ เกิดขึ้นเหมือนเช่นรับประทานยาระบาย เพียงแต่ให้คอยสังเกตว่า ลำไส้ของเรามีความไวต่อเรื่องนี้มากน้อยอย่างไร ปรับจำนวนการรับประทาน และเวลาที่สะดวกในการขับถ่าย ก็จะเหมาะสมและสะดวกขึ้น

นอกจากคุณสมบัติของ MCFAs ที่ช่วยให้การขับถ่ายมีประสิทธิภาพดีแล้ว และหากคุณใช้น้ำมันมะพร้าวพร้อมกันหลายยี่ห้อและให้ผล จำนวนการรับประทานที่แตกต่างกัน เช่นบางยี่ห้อรับประทานเพียง 1 ช้อนโต๊ะ บางยี่ห้อต้องรับประทานถึง 2 ช้อนโต๊ะ จึงจะมีผลในการขับถ่ายเหมือนกัน ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่ามีความแตกต่างกันที่ความสะอาดในการผลิต ยี่ห้อที่รับประทานถึง 2 ช้อนโต๊ะน่าจะมีความสะอาดในการผลิตมากกว่า และควรกลับไปพิจารณาเปรียบเทียบในคุณสมบัติข้ออื่นๆ (จากหัวข้อวิธีดูคุณภาพน้ำมันมะพร้าว ดูได้อย่างไร) หรือสอบถามได้โดยตรงกับผู้ผลิต



7. ทำไมต้องเลือกชนิดน้ำมันสำหรับทอด หรือ ผัด 

คุณสมบัติของน้ำมันนั้นขึ้นอยู่กับความอิ่มตัว และความยาวของโมเลกุล

น้ำมันที่มีความอิ่มตัวสูง จะมีคุณสมบัติคงสภาพและทนต่อความร้อนได้ดี เมื่อโดนความร้อน หรือความร้อนสูงที่ใช้ในการทอด โมเลกุลก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากไม่ยอมให้ ไฮโดรเจน หรือออกซิเจน เข้าไปจับตัวเพิ่ม (ขบวนการ OXIDATION ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ)

น้ำมันที่ไม่อิ่มตัว เนื่องจากแขนของโมเลกุลยังมีช่องว่างอยู่ ไฮโดรเจน หรือ ออกซิเจน จึงเข้าไปจับตัวได้ง่าย เกิดการ OXIDATION เกิดเป็นอนุมูลอิสระ และทำให้น้ำมันเสียได้เร็ว
สาเหตุที่ทำให้น้ำมันเสียมีอยู่ 5 วิธี
1. แสงสว่าง
2. ความร้อน
3. ออกซิเจน
4. ไฮโดรจิเนต (การเติมไฮโดรเจนเข้าไป เพื่อเปลี่ยนจากไขมันไม่อิ่มตัวเป็นอิ่มตัว ไขมันชนิดนี้อันตรายต่อสุขภาพมาก เรียกว่า TRANS FAT)
5. โฮโมจิไนซ์ การทำให้ไขมันแตกตัว

ในขบวนการผลิตน้ำมันผ่านกรรมวิธี โมเลกุลของน้ำมันได้ถูกรบกวนและเกิดเป็นอนุมูลอิสระไปแล้วในระดับหนึ่ง และถ้านำมาใช้ซ้ำอีกขบวนการเกิด TRANS FAT จะเกิดขึ้นได้สูงมาก

ปัจจุบันคนไทยมีความรู้สึกที่ดีมากกับน้ำมันมะกอก (VIRGIN OLIVE OIL) ให้ค่านิยมว่าเป็นน้ำมันสุขภาพ และนำมาใช้ปรุงอาหารทุกชนิดในครัว

ถึงแม้ว่าน้ำมันมะกอกจะมีกรดโอเลอิกที่มีประโยชน์มากต่อร่างกาย แต่กลับมีปริมาณไขมันอิ่มตัวเพียง 14% ปริมาณไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง 77% และปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง 9% ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้น้ำมันมะกอกไม่มีความคงทนต่อความร้อน จึงควรใช้ประกอบอาหาร เช่น น้ำสลัด หรือ การผัดอาหารที่ใช้น้ำมันไม่มาก และไม่ใช้ความร้อนสูง

ดังนั้นถ้าต้องการทอดอาหารหรือปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนสูง อย่างสบายใจจึงควรใช้น้ำมันที่ผลิตโดยวิธีบีบเย็น (COLD PRESSED) และมีความอิ่มตัวสูงเท่านั้น เนื่องจากมีคุณสมบัติทนต่ออากาศ แสง และความร้อนได้ดี ส่วนน้ำมันพืช COLD PRESSED ชนิดอื่นๆ เมื่อเปิดใช้แล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันการเกิด OXIDATION จากอากาศและแสง